วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปัญหาพฤติกรรมของเด็กปฐมวัย

ปัญหาพฤติกรรมของเด็กวัย 1-3 ปี

ลักษณะพฤติกรรมเด็กวัย 1-3 ปี

        จากการศึกษาพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กวัย 1-3 ปี พบว่า เด็กวัยนี้มีการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทอย่างรวดเร็ว โดยมีการสร้างเส้นใยประสาทและจุดเชื่อมต่อ (synapse) ของใยประสาท ซึ่งใยประสาทเหล่านี้มีผลต่อการเรียนรู้ ความคิด ความจำ ตลอดทั้งพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก ประกอบกับธรรมชาติของเด็กวัยนี้เริ่มมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจากการค้นคว้า และสำรวจสิ่งใหม่ๆ รอบตัว มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความพร้อมทางทักษะของพัฒนาการมากขึ้น สามารถยืน เดิน วิ่ง ได้ด้วยตนเอง โดยที่เด็กรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ได้ และเกิดความภาคภูมิใจในงานที่ตนเป็นผู้กระทำสำเร็จ บางครั้งอาจพบว่าเด็กแสดงปฏิกิริยาตอบโต้กับเหตุการณ์ต่างๆ บางอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งแสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่สำคัญต่อการพัฒนาพฤติกรรมและการเรียนรู้ทักษะของพัฒนาการในทุกด้าน

         ซึ่งปัญหาของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้ เป็นปัญหาที่ค่อนข้างเข้าใจง่าย ไม่สลับซับซ้อน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต และพัฒนาการ จะเป็นลักษณะของการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งถ้าเด็กได้เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เหมาะสม โดยขาดการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูแล้วนั้น ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมขึ้นอย่างง่ายดาย ตลอดทั้งสภาวะการณ์ทางสังคมในปัจจุบันมีสิ่งล่อแหลมต่อการเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่มีทัศนคติต่อเทคโนโลยีค่อนข้างมาก โดยเน้นที่วัตถุมากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กโดยตรง ขาดการดูแลเอาใจใส่ ขาดความเข้าใจในพัฒนาการและมีวิธีการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้มีผลต่อปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กทั้งสิ้น

ชนิดของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

อาจจำแนกตามสาเหตุได้ดังนี้

1.       พันธุกรรม ปัญหาลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น เด็กกลุ่มอาการดาวน์ เด็กกลุ่มนี้มี
ระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติ เรียนรู้ช้า มีความสนใจสั้น มีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ เด็กเหล่านี้มีการเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ ไม่คล่องตัวเนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก

2.       สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่ มักมีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก
แทบทั้งสิ้น สภาพครอบครัว การเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง มีอิทธิพลสูงต่อพฤติกรรมที่เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดสภาพความกดดัน และมีผลต่อการปรับตัวของเด็ก บางครั้งจะพบว่าเด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่มากเกินไป (overprotection) หรือน้อยเกินไป(neglected) หรือขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม (improper stimulation) ตามสภาพของเด็กแต่ละคน 

ลักษณะพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
1. พฤติกรรมการอยู่ไม่นิ่ง (ซน) จะพบว่าส่วนใหญ่เด็กวัยนี้ มีความอยากรู้อยากเห็น ต้องการสำรวจตรวจค้นอยู่แล้ว ตลอดทั้งมีภาวะอยู่ไม่นิ่ง ซน และมีช่วงความสนใจสั้น วอกแวก เคลื่อนไหวตัวเองอย่างไร้จุดหมาย แต่ลักษณะพฤติกรรมเช่นนี้จะพบในเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากกว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน  เนื่องจากเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้น มีความสามารถในการรับรู้ช้ากว่า ร่วมกับความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมต่ำ และบางครั้งปัจจัยการเลี้ยงดูก็มีส่วนทำให้เด็กเหล่านี้มีพฤติกรรมการอยู่ไม่นิ่งมากขึ้นด้วย เนื่องจากความรัก ความสงสารเด็ก เห็นว่าเด็กมีปัญหาพัฒนาการและยังเล็กอยู่ รอให้โตขึ้นกว่านี้จึงค่อยสอนก็ได้
วิธีการแก้ไข
1.1    จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบ โดยลดสิ่งเร้ารอบตัวเด็ก เช่น เก็บของเล่นของเด็กเข้าตู้
หรือลิ้นชักให้เรียบร้อย ลดภาพหรือเครื่องตกแต่งภายในห้องเด็กให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อจะไม่กระตุ้นความสนใจของเด็กมากนัก

1.2    สร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมให้กับเด็ก โดยใช้วิธีปรับพฤติกรรม โดยการสร้างเสริมความ
สนใจและคงสมาธิในขณะทำกิจกรรม เพื่อลดพฤติกรรมการอยู่ไม่นิ่งของเด็ก โดยการใช้ของเล่นเพื่อกระตุ้นความสนใจและคงสมาธิให้เด็กมีมากขึ้น อาจให้เด็กเล่นของเล่นครั้งละ 1 ชิ้น เมื่อเล่นเสร็จ ให้สัญญาณเตือนเด็กกว่า “จบ” หรือ “เสร็จ” และบอกว่า “เก็บ” กระตุ้นให้เด็กนำของเล่นเก็บเข้าที่ และเลือกของเล่นชิ้นต่อไปนำมาเล่นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาของการเล่นในระยะแรก อาจเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณ 1-2 นาที/ชิ้น และค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาในการเล่นกับเด็กต่อไป

1.3    จัดตารางเวลาการทำกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันของเด็กอย่างเป็นระบบ โดยต้องกระทำ
กิจกรรมเหล่านี้ตามขั้นตอนที่จัดอย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะทำให้เด็กเข้าใจและยอมรับขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมดีขึ้น เรียนรู้การทำกิจกรรมง่ายขึ้น

1.4    ควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้กระทำกิจกรรมอย่างมีความหลากหลาย เพื่อกระตุ้นความสนใจเด็กให้เกิดสมาธิในการเรียนรู้  โดยการจัดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวมากก่อน เช่น กิจกรรมการออกกำลังกาย อาจเป็นการวิ่ง เตะบอล กระโดด เพื่อให้เด็กระบายพลังงานที่มีอยู่เต็มเปี่ยม และจึงเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรมที่มีเป้าหมาย ซึ่งมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่า เน้นการฟังและการมีสมาธิในขณะทำกิจกรรม เช่น กิจกรรมศิลปะ หรือกิจกรรมการนั่งเล่น จะทำให้เด็กสนใจและเรียนรู้กิจกรรมที่มีเป้าหมายได้ดีขึ้น

1.5    การใช้ยา ในกรณีที่เด็กมีภาวะอยู่ไม่นิ่งมากอาจพิจารณาใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม ซึ่งใช้วิธีปรับพฤติกรรมอย่างเดียวแล้วไม่ค่อยได้ผล ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก และความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมของที่บ้านและที่โรงเรียนว่ามีความสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และชัดเจนมากน้อยเพียงใด แต่การใช้ยาไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหรือเป็นอันตรายต่อเด็ก เพียงแต่ขอให้อยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และควรรับประทานยาต่อต่อเนื่องและอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งขนาดของยาอาจต้องปรับตามลักษณะพฤติกรรมของเด็กและน้ำหนักของเด็กตามความเหมาะสมด้วย ถึงแม้เด็กจะได้รับยาเพื่อควบคุมพฤติกรรมก็ตาม ก็ยังควรใช้หลักของการปรับพฤติกรรมควบคู่กับการใช้ยาร่วมด้วย จึงจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. พฤติกรรมก้าวร้าว อาจมีลักษณะของพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง และผู้อื่น หรือทำลายสิ่งของ ซึ่งในเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้นอาจมีปัญหาของพฤติกรรมที่รุนแรงกว่าเด็กปกติ เพราะมีภาวะการณ์เรียนรู้ช้า ไม่เข้าใจ มีความบกพร่องทางการสื่อสาร บอกความรู้สึกหรือความต้องการกับผู้อื่นไม่ได้

     ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือถ้าเด็กเกิดพฤติกรรมนี้แล้ว ก็ควรที่จะหยุดยั้งพฤติกรรมเหล่านี้ให้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับเด็กและผู้อื่นที่อยู่รอบข้าง อย่านำข้อบกพร่องของเด็กเหล่านี้มาเป็นตัวขัดขวางการสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม และไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กอื่นๆ และผู้อื่นด้วย ที่จะต้องยอมรับในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก จะมีผลทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษขาดความเข้าใจในการเรียนรู้พฤติกรรมที่ถูกต้อง เพราะคิดว่าพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ซึ่งอนาคตเด็กเหล่านี้ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่นในสังคม
วิธีการแก้ไข
2.1 ถ้าพฤติกรรมก้าวร้าวที่ไม่รุนแรง และไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น เช่น พฤติกรรม
tantrum ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับเด็กวัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ตาม ควรใช้เทคนิคปรับพฤติกรรมในลักษณะของการเพิกเฉย (ignore) ต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นร้องไห้ โวยวายเสียงดัง ฯลฯ และไม่ควรหัวเราะต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก แต่ควรแสดงสีหน้าที่เรียบเฉย นิ่ง สงบ และลอบสังเกตพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ซึ่งอาจใช้เวลาแตกต่างกันประมาณ 10-30 นาที หรือบางครั้งอาจนานถึง 1 ชั่วโมงก็ได้ หลังจากที่เด็กมีพฤติกรรมที่ลดลง สงบลง ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กออกจากเหตุการณ์ช่วงนั้น ไปสู่กิจกรรมอื่นแทน และไม่ควรพูดย้ำเตือนเหตุการณ์นั้นอีก

2.2    อาจใช้เทคนิคปรับพฤติกรรมด้วยวิธี time out โดยจัดมุมห้อง มุมใดมุมหนึ่งของบ้านหรือ
ห้องฝึก ซึ่งมุมนั้นควรเป็นมุมเงียบ และไม่มีสิ่งที่เด็กสนใจ แต่ต้องไม่น่ากลัวสำหรับเด็ก ไม่ควรมีอุปกรณ์ใดๆ เป็นแรงเสริมให้เด็กสนใจหรือต้องการ ถ้าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายข้าวของ นำเด็กแยกออกจากสิ่งแวดล้อมขณะนั้น และนำเข้ามุมที่จัดไว้สำหรับปรับพฤติกรรม บางครั้งเรียกว่ามุมสงบ โดยให้เด็กอยู่ภายในมุมนั้นชั่วคราว เวลาที่ใช้ในการควบคุมพฤติกรรมเด็ก พิจารณาตามอายุ โดยอายุ (ปี) : เวลา (นาที) เช่น เด็กอายุ 2 ปี ใช้ 2 นาที เป็นต้น และมีครูหรือผู้อื่นคอยดูแลอยู่ห่างๆ และเมื่อครบเวลานำเด็กออกจากมุมนั้น ถ้าเด็กยังแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอีก ก็จะต้องใช้วิธี time out ทุกครั้ง

2.3    เทคนิคปรับพฤติกรรม โดยวิธีลงโทษ (punishment) เป็นวิธีการหยุดพฤติกรรมที่ไม่
เหมาะสมโดยทันที พฤติกรรมนั้นค่อนข้างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อตัวเด็กและผู้อื่น ซึ่งถึงแม้จะได้ผลทันทีก็จริง แต่ควรใช้เป็นวิธีสุดท้ายกับเด็ก เพราะเด็กไม่สามารถเข้าใจถึงเหตุผลต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่กลับเรียนรู้ว่าถ้าจะหยุดพฤติกรรมอื่นๆ จะต้องใช้การลงโทษ (ซึ่งอาจใช้การตี การกัด) ไปใช้แก้ปัญหากับเด็กหรือผู้อื่นแทน

2.4    ถ้าพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กรุนแรงและเป็นอันตรายต่อผู้อื่นหรือตัวเด็กเอง อาจใช้วิธีกอด
รัดเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรม ถ้าเด็กตัวใหญ่อาจใช้ผ้าห่อรัดตัวเด็กแทน และต้องไม่สนใจต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก เด็กอาจจะดิ้นหรือต่อต้านผู้ปรับพฤติกรรม แต่ผู้ปรับพฤติกรรมต้องมีความชัดเจน อดทน และสม่ำเสมอ ต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก และเมื่อเด็กสงบลงใช้วิธีเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรมใหม่แทน ไม่ควรพูดตำหนิในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และถ้าเด็กเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้อีก ก็อาจจะใช้วิธีการปรับพฤติกรรมเช่นนี้อีกทุกครั้ง จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น มากกว่าการพูดตำหนิว่าเด็กอย่างเดียว เพราะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มีความบกพร่องในความเข้าใจและการสื่อภาษา
3. พฤติกรรมไม่ยอมแบ่งปันและไม่รู้จักรอคอย เด็กในวัยนี้ยังรอคอยไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเด็กในวัยนี้ และจะยากมากถ้าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ แต่ทักษะของพฤติกรรมเหล่านี้สามารถเรียนรู้กันได้
วิธีการแก้ไข
3.1    จัดกลุ่มกิจกรรมย่อย ซึ่งมีเด็กประมาณ 2-3 คนต่อครู 1 คน โดยครูจัดของเล่นให้มีความหลากหลายและเป็นที่สนใจของเด็ก ครูจะเป็นผู้นำกลุ่มโดยให้เด็กผลัดกันเล่นของเล่น โดยใช้เวลาในการเล่นแต่ละขั้นไม่นานมาก จากนั้นครูให้สัญญาณเตือนให้เด็กพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนของเล่นกัน จะทำให้เด็กทุกคนในกลุ่มได้เรียนรู้การเล่นอย่างมีกฎเกณฑ์

3.2    ถ้ากรณีของเล่นที่เด็กสนใจและมีจำนวนจำกัด ครูควรมีกฎเกณฑ์กับเด็กให้ชัดเจน เช่น คนไหนอยากเล่นของเล่นชิ้นนี้ยกมือขึ้น ให้เด็กที่ยกมือขึ้นก่อนได้รับของเล่น ซึ่งในกลุ่มอาจมีเด็ก 4 คนแต่มีเด็ก 3 คนที่ยกมือขึ้น ก็ให้เด็ก 3 คนเล่นของเล่นก่อน หลังจากนั้นครูอาจจับเวลาการเล่นให้เล่นคนละ 5 นาที เมื่อครบเวลา ครูให้สัญญาณเตือนให้เด็กส่งของเล่นให้เพื่อนที่ยังไม่ได้เล่นต่อไป โดยใช้กฎกติกาเดิม แต่ถ้าเกิดกรณีที่เด็กไม่รอคอยพยายามจะแย่งของเล่นออกจากเพื่อน ครูต้องยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ได้ โดยการจับแยกเด็กออกจากกลุ่ม ถึงแม้ว่าเด็กจะร้องไห้ โวยวายก็ตาม ต้องใช้วิธีการเพิกเฉย (ignore) แต่ครูจะให้ความสนใจในเด็กที่แสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม โดยให้เล่นของเล่นกันต่อไป เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในพฤติกรรมที่เหมาะสมเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
4. พฤติกรรมการกระตุ้นตัวเอง เช่น การโยกตัว การดูดนิ้ว ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้มักเกิดขึ้นเวลาเด็กอยู่คนเดียว ไม่รู้จะทำกิจกรรมอะไร บางครั้งอาจเป็นการเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น ดังนั้นเด็กจึงแสดงพฤติกรรมออกมาเพื่อหาความสุขสบายในรูปของการกระตุ้นตัวเอง

วิธีการแก้ไข



4.1    สังเกตพฤติกรรมโดยพิจารณาความถี่ที่เกิดขึ้น และพฤติกรรมเหล่านี้เกิดในเหตุการณ์
ใดบ้าง

4.2    ให้ความรัก ความเอาใจใส่ อย่าดุว่า ตำหนิ หรือชี้นำพฤติกรรม สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กสนใจ
และมีพฤติกรรมเพิ่มขึ้น ทางที่ถูกต้องควรโอบกอด สัมผัสด้วยความรัก และเบี่ยงเบนให้เด็กสนใจในกิจกรรมอื่นแทน อาจใช้ของเล่น หรือเกมการเล่นอื่นเข้ามาแทน

5. พฤติกรรมดื้อรั้น พฤติกรรมดื้อรั้นของเด็กนั้น ทางด้านจิตวิทยาได้กล่าวว่าเป็นพฤติกรรมที่เด็กต้องการความเป็นอิสระหรือความเป็นเจ้าของในส่วนที่เป็นของตัวเอง เช่น เรื่องความเป็นตัวของตัวเองที่จะทำอะไรเป็นอิสระด้วยตัวเอง พอไม่ได้รับในสิ่งนั้น เด็กก็จะหาทางต่อสู้ โดยแสดงความดื้อรั้นกับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใกล้ชิด มักพบในวัย 2-4 ปี ในช่วงนี้เด็กต้องการทำอะไรใหม่ๆ ด้วยตนเอง พบสิ่งใหม่ๆ ก็อยากสำรวจค้นคว้า ผู้ใหญ่ไม่ควรขัดขวางพัฒนาการของเด็กเพียง แต่คอยดูว่าถ้าสิ่งนั้นนำไปสู่อันตราย หรือนำไปสู่การละเมิดสิทธิของผู้อื่น ก็ต้องคอยป้องกัน หรือยับยั้งอย่างจริงจัง บางครั้งเด็กอาจแสดงพฤติกรรมดื้อรั้นร่วมกับพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ลงไปนอนดิ้น ร้อง กระทืบเท้า ทำลายข้าวของ ทุบตีผู้ใหญ่

     พฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากการที่เด็กถูกตามใจจนกระทั่งเคยตัว โดยที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึงว่าการปล่อยตัวตามใจทุกอย่างนั้นเป็นการขัดขวางพัฒนาการของเด็กอย่างร้ายแรงที่สุด เพราะจะทำให้เด็กกลายเป็นคนไม่มีความอดทน นึกอยากได้อะไรก็ต้องได้ทุกอย่าง ขาดวินัย ถ้าไม่ได้ก็จะอาละวาด ก้าวร้าว ถ้าเด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวแล้วเด็กได้ในสิ่งที่ต้องการ ครั้งต่อไปเด็กก็จะเอาพฤติกรรมก้าวร้าวเช่นนั้นเป็นเครื่องต่อรองกับคุณพ่อคุณแม่อีก หรือบางทีก็จะยิ่งอาละวาดหรือก้าวร้าวมากขึ้น เพราะรู้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้ผู้ใหญ่ยอม หรืออีกสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยในพฤติกรรมเด็กดื้อรั้น คือเด็กถูกยั่วยุด้านเดียว เช่น ถูกขัดใจอยู่ตลอดเวลา หรือถูกแหย่ให้โกรธตลอดเวลา จนกลายเป็นเด็กขี้โมโห หรือกรณีถูกลงโทษโดยไม่เป็นธรรมหรือถูกลงโทษรุนแรงเกินไป สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเร้าอารมณ์ให้เด็กเกิดพฤติกรรมดื้อรั้นแทบทั้งสิ้น
วิธีการแก้ไข
5.1 ไม่ควรบังคับเด็กมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรตามใจมากเกินไป ถ้าทำตามไม่ได้หรือให้ไม่ได้ก็ควรบอกว่าทำไม่ได้ ต้องยืนยันตามเหตุผลนั้นอย่างจริงจัง การกระทำอย่างอ่อนโยนแต่เด็ดขาดชัดเจน เป็นวิธีหนึ่งที่แสดงให้เด็กรู้ว่ามีคนรักและเอาใจใส่ความรู้สึกของเด็ก

5.2 ในกรณีที่เด็กมีพฤติกรรมดื้อรั้น เช่น มีพฤติกรรมต่อต้าน ร้องไห้โวยวาย วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดในขณะนั้นคือ ต้องใจเย็น อย่าให้อะไรในขณะที่เด็กเกิดพฤติกรรมเช่นนั้น ถ้าเห็นว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรที่หนักหนาและไม่เป็นอันตรายต่อตัวเด็ก อยากร้องก็ปล่อยให้ร้อง อย่าแสดงอาการวิตกกังวลกับพฤติกรรมของเด็กที่เกิดขึ้น เด็กก็จะค่อยๆ สงบและเงียบลง เมื่อเด็กเงียบควรเบี่ยงเบนความสนใจไปทางอื่น พฤติกรรมการดื้อรั้นก็จะลดลง และถ้าเด็กก้าวร้าวโดยการทำร้ายตัวเอง/ผู้อื่นร่วมด้วย ควรจับ/กอดรัดเด็กไว้ก่อนเพื่อหยุดพฤติกรรมนั้น เมื่อเด็กสงบลงก็เบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น เมื่อเด็กมีอารมณ์ดื้อรั้น ผู้ใหญ่ต้องใจเย็น สงบ แต่เอาจริง จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้หรือไม่ควรทำ

     ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็ต้องพยายามเข้าใจธรรมชาติและความต้องการของเด็กด้วย ถ้าเอาแต่สอนเด็กแต่ตัวเองไม่ทำตามที่สอนหรือไม่ทำตามที่พูด เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่ดีแต่พูดเท่านั้น เช่น บอกว่าถ้าทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะต้องถูกลงโทษ เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมนั้นจริงกลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เด็กก็จะรู้ว่าพ่อแม่ไม่เอาจริง และเด็กก็จะยิ่งแสดงพฤติกรรมนั้นมากขึ้น ก็จะต้องขู่มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้หรือเข้าใจพฤติกรรมนั้นได้ กลับเข้าใจว่าเป็นเพียงคำขู่ ไม่มีอะไรจริงจัง กรณีเช่นนี้ เป็นการส่งเสริมให้เด็กกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อรั้นมากขึ้น

ปัญหาของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กในวัยนี้ไม่ยากที่จะแก้ไข ถ้าเข้าใจถึงพัฒนาการของเด็กและเทคนิคการปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม ก็สามารถนำเด็กไปสู่พฤติกรรมที่ดีที่เหมาะสมตามวัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น